วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ผู้จัดทำ

สมาชิกผู้จัดทำ

1.นางสาวทิพรัตน์      เนื้อนุ้ย                   รหัสนักศึกษา  571301026
2.นางสาวนูรีซัน           อาบู                     รหัสนักศึกษา  571301034
3.นางสาวแวนูรีตา       แวสะแลแม           รหัสนักศึกษา  571301057
4.นางสาวสจี               เสาร์ทองจันทร์      รหัสนักศึกษา  571301059
5.นางสาวอรณิชา       ศุกรวรรณ             รหัสนักศึกษา  571301063

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 1

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา

อ้างอิง

อ้างอิง


2558.สำรวจโลกฮอร์โมน.(ออนไลน์).แหล่งที่มา : http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/hormone/index.htm.4 พฤษภาคม 2558

ุ6.2 ฮอร์โมนจากต่อมไทมัส


       ต่อมไทมัสอยู่ที่หน้าอกใต้กระดูกสเตอร์นัมหรือลิ้นปี่ (sternum)     มีจำนวน 2 พู อยู่รอบเส้นหัวใจใหญ่งฮอร์โมนชื่อ ไทโมซิน (thymosin) และไทโมโปอิทิน ( thymopoietin)
       เมื่อเป็นเด็กต่อมไทมัสจะมีขนาดใหญ่    เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นขนาดของต่อมจะเล็กลง เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (adulthood) ต่อมนี้จะเหี่ยวไป (atrophy)   และเมื่อเข้าสู่วัยชราจะกลายเป็นพังผืด (fibrous)
กายวิภาคศาสตร์ของต่อมไทมัส


UP 

       ไทโมซินเป็นฮอร์โมที่สร้างจากต่อมไทมัส ซึ่งมีโครงสร้างเป็นสาย พอลิเปปไทด์ ที่มีกรดอะมิโนต่อกันเป็นสาย มีโครงสร้างหลายแบบ เช่น ไทโมซินแอลฟาหนึ่ง และไทโมซินเบตาสี่ เป็นต้น



      ไทโมซินทำหน้าที่กระตุ้นการแบ่งเซลล์เม็ดเลือดขาวประเภทลิมโฟไซท์ (lymphocyte หรือ T cell) ที่ยังอ่อนอยู่ (immature lymphocyte) แล้วปรับสภาพไปเป็นลิมโฟไซท์ที่เจริญเต็มที่ (mature lymphocyte)
      ลิมโฟไซท์ที่เจริญเต็มที่แล้วจะออกจากต่อมไทมัสไปอยู่บริเวณม้ามและ ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคเนื่องจากการกระทำของเซลล์ (cellular immunity) คือทำหน้าที่เกี่ยวกับปฎิกริยาภูมิแพ้ และการไม่ยอมรับเนื้อเยื่อแปลกปลอมที่ปลูกถ่ายกับร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา
      ต่อมไทมัสจะไวต่อการติดเชื้อ รังสี การเจ็บป่วยมาก พบว่าถ้ามีการติดเชื้อนานๆ เมื่อหายแล้วต่อมไทมัสจะมีขนาดเล็กลงเล็กน้อย

       ถ้าต่อมนี้ติดเชื้อหรือฝ่อตั้งแต่แรกเกิด ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนไทโมซินไม่ได้ ทำให้ทารกแรกเกิดติดเชื้อถึงแก่ชีวิตได้

6.1 ฮอร์โมนจากต่อมไพเนียล


       ต่อมไพเนียลเป็นต่อมขนาดเล็ก ขนาดเท่ากับเม็ดข้าวมีสีแดงปนน้ำตาล เรียกชื่อเต็มว่าเอน อะเซทิล ไฟฟ์เมทอคซิทริพทามีน( N acetyl -5- methoxytryptamine) เนื่องจากรูปร่างคล้ายลูกสน (pine cone) จึงเรียกว่าต่อมไพเนียล (pineal gland)
       ต่อมนี้ยื่นมาจากด้านบนของไดเอนเซฟฟาลอน หรืออยู่ด้านล่างสุดของโพรงสมองที่สาม ประกอบด้วยเซลล์ 2 ประเภท คือเซลล์ไพเนียล( pinealocytes) และเซลล์ไกลอัน (glial cell) ต่อมไพเนียลจัดอยู่ทั้งในระบบประสาท คือการรับตัวกระตุ้นจากการมองเห็น (visual nerve stimuli) และระบบต่อมไร้ท่อ คือการสร้างฮอร์โมน
กายวิภาคศาสตร์ของต่อมไพเนียล

กายวิภาคศาสตร์ของต่อมไพเนียล

        เซลล์ไพเนียล( pinealocytes) เป็นระบบประสาทที่ผลิตเมลาโทนินตามการสั่งงานของไฮโพทาลามัส ต่อมใต้สมองส่วนหน้า และอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนเพศ (gonads) ทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อ (ไม่ใช่เมลานินที่หลั่งโดยเซลล์ เมลาโนไซท์)       
         เซลล์ไกลอัล (glial cells) เป็นเซลล์ประสาทที่มีตำแหน่งอยู่บนโครงข่ายประสาทของเซลล์ไพเนียล หน้าที่ยังไม่ชัดเจน
UP 

        เมื่อแสงสว่างหายไปจากจอรับภาพในตา ต่อมไพเนียลจะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (melatonin) ซึ่งสังเคราะห์มาจากกรดอะมิโน ชื่อทริปโตเฟน (tryptophan) โดยนอร์อิพิเนฟรินจากเส้นประสาทซิมพา
เทติกจะจับกับตัวรับสัญญาณบนเยื่อเซลล์กระตุ้นเซลล์ในต่อมไพเนียล (pinialocyte) สังเคราะห์ cAMP แล้วกระตุ้นสารเร่งปฏิกิริยาเอน อะเซทิลทรานส์เฟอเรส (N-acetyltransferase, NAT) เปลี่ยนซีโรโท
นินเป็นเอนอะซิทิลเซอโรโทนิน (N-acetylserotonin) ซึ่งจะถูกเปลี่ยนโดยไฮดรอกซิอินโดล์ โอ เมทธิลทรานส์เฟอเรส (hydroxyl-indole-O-methyl transferase : HIOMT) ให้เป็นเมลาโทนินอีกทอดหนึ่ง
การสังเคราะห์เมลาโทนินซึ่งมีทริปโตเฟนเป็นสารตั้งต้น
       ต่อมไพเนียลทำหน้าที่เหมือนตัวกลางที่จะรับรู้ความยาวของกลางวันและกลางคืนและส่งสัญญาณในรูปของฮอร์โมนเมลาโทนินไปยังระบบต่างๆ เมื่อแสงสว่างผ่านเลนส์แก้วตาไปตกกระทบกับจอรับภาพบริเวณส่วนหลังสุดของลูกตาที่เรตินา (retina) ที่มีใยประสาทมาเลี้ยง จะส่งกระแสประสาทไปที่ ศูนย์รวมเส้นประสาทที่อยู่เหนือใยประสาทที่ไคว้กันเหนือสมองหรือ นิวเคลียสซูพราไคแอสมาติก( suprachiasmatic nuclei) ผ่านเส้นประสาทซิมพาเทติกจนถึงที่ปมประสาทซูพีเรีย เซอร์วิคัล (superior cervical ganglion) แล้วส่งต่อไปที่ต่อมไพเนียล
ตำแหน่งของต่อมไพเนียลและเส้นทางของสัญญาณประสาทจากตาสู่ต่อมไพเนียล

        การสร้างเมลาโทนินจึงถูกกระตุ้นโดยความมืดและการหลั่งจะถูกยับยั้งโดยแสงสว่าง นั่นคือเมื่อมีแสงสว่าง ต่อมไพเนียล จะหลั่งเมลาโนโทนินน้อยลง ถ้าไม่มีแสงสว่างจะมีผลให้มีการผลิตเมลาโทนินมากขึ้น มีความเชื่อว่าฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมาตามวงจรชีวิตหรือวัฎจักรประจำวัน(biological rhythm)ใน 24 ชั่วโมงที่เกี่ยวข้องกับแสงสว่างและความมืด (circadian rhythm) เช่นวงจรการตื่นและการหลับ ฤดูกาลผสมพันธุ์

         การเปลี่ยนจากซีโรโทนินไปเป็นเมลาโทนินเพิ่มขึ้นในเวลากลางคืน   ทำให้เห็นในเวลากลางคืนได้ดีขึ้น   ทำให้สายตาเห็นได้ดีเมื่ออยู่ในที่สลัวๆหรือเมื่อมีแสงสว่างน้อย
เมลาโทนินหลั่งเฉพาะกลางคืนเท่านั้นหรือ ?
                          
                                                 เมลาโทนินหลั่งในรอบ 24 ชั่วโมงอย่างไร
        การหลั่งของเมลาโทนินในรอบประมาณ 24 ชั่วโมง (circadian rhythm) ของคนวัยเจริญพันธุ์     ในเวลากลางคืนจะมีการสร้างเมลาโทนินมาก โดยจะเริ่มสร้างตั้งแต่เวลา 2100-22.00 น. และมีการสร้างมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงระดับสูงสุดเวลา 02.00-04.00น. คือประมาณ 60-70 พิโคกรัมต่อมิลลิเมตรของพลาสมา (1 พิโคเท่ากับ 10 -12) แล้วจะลดลงเรื่อยๆจนกระทั่ง 07.00-08.00น.ถึงหยุดสร้าง ซึ่งจะเหลือค่าต่ำสุดประมาณ 7 พิโคกรัมต่อมิลลิเมตร
UP 

จริงหรือไม่ เมลาโทนินชะลอความชราได้ ?

         ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจะได้รับเมลาโทนินผ่านทางรกของมารดา แต่เมื่อทารกกำเนิดต่อมไพเนียลของทารกต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงจะเจริญจนผลิตฮอร์โมนได้และจะผลิตเพิ่มได้สูงสุดเมื่ออายุประมาณ 1ปีและจะสูงในระดับนี้จนอายุประมาณ 5-6 ปีหลังจากนั้นจะลดต่ำลง โดยเฉพาะในวัยรุ่นเมลาโทนินจะลดลงมาก เมื่ออายุ 70-80 ปีอาจวัดไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยที่พบว่าในวัยรุ่นที่มีเมลา
โทนินสูงจะเป็นหนุ่ม สาวช้ากว่ากำหนด



         ดังนั้นจะเห็นว่าเมื่ออายุมากขึ้นทั้งระดับเมลาโทนินและฮอร์โมนอื่นจะลดน้อยลง เช่น เทสโทส
เทอโรน อีสโทรเจน โพรเจสเทอโรนและโกรทฮอร์โมน ทำให้นักวิจัยสนใจว่าถ้าให้ฮอร์โมนเหล่านี้และเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนเสริมจะสามารถชะลอการชราภาพได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยของนักวิจัยหลายท่านสนับสนุนความเห็นนี้

นอกจากหน้าที่ในการปรับร่างกายให้รับรู้เวลากลางวันกลางคืนในรอบ 24 ชั่วโมงแล้ว เมลาโทนินยังทำหน้าที่อื่นดังนี้
    1. การพัฒนาระบบอวัยวะสืบพันธุ์   มีบางคนเชื่อว่าเมลาโทนินมีผลต่อการสร้างโกนาโดโทรปิน
รีลิสซิ่งฮอร์โมน (GnRH) แม้ว่ายังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวข้องกับขบวนการหลั่งของเมลาโทนิน แต่มีความเชื่อว่าน่าจะระงับการหลั่ง โกนาโดโทปิน รีลิสซิ่งฮอร์โมนจากไฮโพทาลามัส และควบคุมการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ โดยจะมีการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเพศ เช่นในช่วงที่มีฤดูหนาวที่มีกลางคืนยาวนาน ผู้หญิงชาวเอสกิโมจะไม่มีประจำเดือน และถ้ามีฮอร์โมนนี้มากจะทำให้เป็นหนุ่มสาวช้ากว่าที่ควร ในผู้ชายจะมีอัณฑะขนาดเล็กลงได้

     2. ส่งเสริมการนอนหลับและกิจกรรมต่างๆ ใช้ในการรักษาผู้ที่มีปัญหาการนอนไม่หลับ (sleep disorder) เช่น ผู้ทำงานเป็นกะ (shift workers ) หรือผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับ (elderly insomnia) แก้ไขการหลงเวลาจากการเดินทางโดยเครื่องบิน (jet lag) เมื่อไปในประเทศที่เวลาไม่เหมือนกัน เช่นเมื่อเดินทางจากประเทศไทยไปประเทศสหรัฐอเมริกาที่เวลาห่างกันประมาณ 12 ชั่วโมง จะทำให้เวลากลางวันและกลางคืนกลับกัน ซึ่งจะทำให้นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะได้ ถ้าได้รับฮอร์โมนเมลา
โทนินจะทำให้ปัญหาเหล่านี้หายไปหรือน้อยลง


     3. การรักษาโรคที่เกี่ยวกับอารมณ์ มีงานวิจัยหาความสัมพันธ์ระหว่างเมลาโทนินและภาวะซึมเศร้า พบว่าในประเทศที่มีฤดูหนาวที่ยาวนาน อากาศสลัวๆ ซึ่งเมลาโทนินหลั่งมากขึ้นจะมีผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามากกว่า และเป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไมเราจึงรู้สึกสดชื่นในวันที่ท้องฟ้าสดใส มากกว่าในช่วงที่มีอากาศสลัวๆ ของช่วงฤดูหนาว
      4. ชะลอการชราภาพ        มีบางรายงานกล่าวถึงเมลาโทนินซึ่งตัวต้านออกซิเดชัน (antioxidation) ซึ่งเป็นสารที่ป้องกันไม่ให้เซลล์ในร่างกายถูกทำลายจากสารที่เป็นอนุมูลอิสระ (free radicals) ซึ่งมักจะไปทำปฏิกิริยาเป็นลูกโซ่และทำลายเซลล์อื่นได้มาก ทำให้เกิดโรคเรื้อรังเช่นมะเร็ง หลอดเลือดหัวใจขาดเลือด ซึ่งถ้ามีอนุมูลอิสระที่เกิดจากกระบวนการเมแทบอลิซึมมาก จะทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ต่อเยื่อบุผิวเซลล์หรืออาจเข้าไปในนิวเคลียส ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัว หรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทำให้เกิดการชราภาพของเซลล์ เมลาโทนินจะไปจับหรือกำจัดอนุมูลอิสระเหล่านี้ได้ดีและปกป้องเซลล์จากการทำลายของไขมันในเยื่อหุ้มเซลล์ได้ด้วย ทำให้ชะลอการชราภาพได้และมีรายงานว่าสามารถนำมาใช้ฟื้นฟูเซลล์ต่างๆ ได้ดี
      ถ้ามีมากเกินไปจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตอวัยวะสืบพันธุ์ เนื่องจากพบว่าเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเมลาโทนินจะลดน้อยลง
      นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีอาการซึมเศร้าจะมีฮอร์โมนนี้มากกว่าคนปกติ จากการวิจัยพบว่าในประเทศแถบสเกนดิเนเวีย ที่ในฤดูหนาวมีเวลากลางคืนยาวนานมาก จะมีผู้มีอาการซึมเศร้ามากขึ้น

บทที่ 6 ฮอร์โมนจากต่อมไพเนียลและฮอร์โมนจากต่อมไทมัส


5.2 อวัยวะที่สร้างฮอร์โมนเพศ



อวัยวะที่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศได้มี 3 ส่วน คือ
เรามาเริ่มศึกษารายละเอียดของอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนเพศแต่ละชนิดกันดีกว่า

5.2.1 รังไข่และฮอร์โมนจากรังไข่ (ovary)

       ตำแหน่ง

      รังไข่ตั้งอยู่ที่อุ้งเชิงกราน 2 ข้างของมดลูก ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์และเป็นต่อมไร้ท่อโดยผลิตฮอร์โมนเพศหญิง คือฮอร์โมนอีสโทรเจน (estrogen ออกเสียงอีกอย่างได้ว่า เอสโทรเจน) และ         โพรเจสเทอโรน (progesterone) ซึ่งเป็นสเตรอยด์   ระดับของฮอร์โมนจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของรอบประจำเดือน
ตำแหน่งของรังไข่ในร่างกายผู้หญิง

อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง


การเจริญเติบโตของไข่

      ไข่ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์มีการพัฒนามาตั้งแต่เซลล์เพศ(germ cell) ของตัวอ่อน ซึ่งเรียกว่าเซลล์เพศขณะอยู่ในครรภ์จะมีการแบ่งเซลล์แบบไมโตทิกเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อแรกเกิดจะมีไข่ประมาณ 2 ล้านใบ โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในระยะเสื่อมสลายหรือฝ่อ (atresia) ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา
      หลังจากนั้นโอโอโกเนียมจะมีการแบ่งเซลล์แบบไมโอซีส 1 (meiosis1) เพื่อลดจำนวนโครโมโซมลงครึ่งหนึ่งให้พร้อมในการรวมตัวกับอสุจิแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์จะหยุดอยู่ที่ระยะ โปรเพส 1 ประมาณเดือนที่ 3 ของการเจริญอยู่ในครรภ์ เซลล์ไข่จะแบ่งตัวถึงขั้นที่1 (primary oocyte) ซึ่งบรรจุอยู่ในถุงไข่ขั้นที่1 (primary follicle)

      เซลล์ของไข่ที่มาหยุดอยู่ที่ระยะโพรเพสนี้จะมีเซลล์มาห้อมล้อมกลายเป็นถุงไข่อ่อนตั้งต้น (primordial follicle) เซลล์เหล่านี้ต่อมาเปลี่ยนเป็นเซลล์แกรนูโลซา (granulosa cell) ทำหน้าที่ส่งอาหารให้ไข่อ่อน เซลล์ของไข่อ่อนที่ติดกับเยื่อฐานเซลล์จะเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ทีคา (theca cell) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือทีคาด้านนอก(theca externa) และทีคาด้านใน(theca interna) เป็นที่สังเคราะห์ฮอร์โมนได้
      ถุงไข่อ่อนจะอยู่ในระยะถุงไข่ขั้นที่ 1 (primary follicle) นี้ไปจนเข้าสู่วัยสาวก่อนไข่ตก


ฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่


       ฮอร์โมนอีสโทรเจน (estrogen hormone)

      เมื่อสตรีเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จะมีการหลั่งของฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิงฮอร์โมน (gonadotropin releasing hormone) หรือที่เรียกว่าจีเอ็น อาร์เอช (GnRH) มากระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้หลั่งฮอร์โมน ฟอลลิเคิล สติมิวเลติงฮอร์โมน(follicle stimulating hormone)   เรียกย่อว่า  เอฟ เอส เอช (FSH ) และลูทีไนซิงฮอร์โมนหรือแอล เอช(lutieinzing hormone : LH) ไปกระตุ้นการทำงานของรังไข่ให้เจริญเติบโตและสร้างฮอร์โมนอีสโทรเจน (estrogen) และโพรเจสเทอโรน (progesterone) ออกมา
แสดงการสร้างฮอร์โมนอีสโทรเจนที่รังไข่ ซึ่งควบคุมโดยฮอร์โมนจากไฮโพทาลามัสและ ต่อมใต้สมองส่วนหน้า

      อีสโทรเจนที่สำคัญในผู้หญิงคือ อีสตราไดออล 17 เบต้า (estradiol 17 β: E 2) รองลงมาคืออีสโทรน (estrone: E 1) และอีสไทรออล(estriol : E 3) ซึ่งในรอบระดูการหลั่งฮอร์โมนนี้จะแตกต่างกัน ในรอบต้นระดูจะหลั่งเพียง 50 พิโคกรัม / มิลลิลิตร จนถึงในช่วงก่อนไข่ตก จะหลั่งได้ถึง 350 – 850 พิโคกรัม / มิลลิลิตร
      ในระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกและรกจะสร้างอีสไทรออล (estriol : E 3) เข้าสู่กระแสเลือดของมารดาปริมาณมาก จึงสามารถนำค่าของฮอร์โมนนี้ไปประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์โดยเจาะเลือดของมารดาไปตรวจได้


หน้าที่ของฮอร์โมนอีสโทรเจน

    1. กระตุ้นการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ของเพศหญิง (female secondary sex characteristics)
    เมื่อฮอร์โมนเพศจับกับตัวรับสัญญาณของเซลล์ที่อวัยวะเป้าหมายของสตรีจะทำให้สะโพกผาย อวัยวะเพศและเต้านมใหญ่ขึ้น มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น มีขนที่รักแร้และอวัยวะเพศ เสียงเล็ก ปลายกระดูกอิปิไพเซียล เพลท(epiphyseal plate) ในกระดูกยาว (long bone) ปิดเร็วขึ้น ทำให้ความสูงไม่ เพิ่มขึ้น

ผลของฮอร์โมนอีสโทรเจนในการกระตุ้นการเข้าสู่ลักษณะทางเพศของสตรี

    2. ต่อต้านการแข็งตัวของเลือด
   ฮอร์โมนอีสโทรเจนจะเพิ่มระดับคอเลสเทอรอลชนิดดี (high density lipoprotein)) และลดคอเลส
เทอรอลชนิดเลว (low density lipoprotein) ทำให้เส้นเลือดหยืดหยุ่น และเกล็ดเลือดไม่เกาะกลุ่มกัน ทำให้ไม่ค่อยเป็นโรคที่เกี่ยวกับเส้นเลือดแข็งตัวและปัญหาเส้นเลือดที่หัวใจ
      ไลโพโปรตีนประกอบด้วยโปรตีน ไขมันชนิดต่างๆ และคอเลสเทอรอล ซึ่งรวมตัวอยู่ด้วยกันด้วยแรงอ่อนๆ จึงมีองค์ประกอบที่เข้ามาจับรวมกันหรือหลุดออกจากกันไปได้ง่าย เช่น ไขมันและคอเลสเทอ-
- รอล คนมักจะกล่าวว่า HDL มีคอเลสเทอรอลชนิดดี ส่วน LDL มีคอเลสเทอรอลชนิดเลว อันที่จริงแล้ว
คอเลสเทอรอลใน HDL และLDL เป็นตัวเดียวกัน แต่คนเรียกคอเลสเทอรอลดีหรือเลวเป็นเพราะ HDL มีไขมันต่ำและคอเลสเทอรอลต่ำ ส่วน LDL มีไขมันและคอเลสเทอรอลมากกว่า การที่มีคอเลสเทอรอลสูงมีผลกระทบที่ไม่ดีต่อหลอดเลือด คนจึงมีความคิดต่อคอเลสเทอรอลที่ไม่ดี แต่คอเลสเทอรอลเป็นสิ่งที่จำเป็นของสิ่งมีชีวิต เพียงแต่ไม่ควรมีสูงเกินไปเท่านั้น    

      ความหนาแน่นขึ้นอยู่กับปริมาณของไขมันและคอเลสเทอรอล ถ้าปริมาณไขมันมากความหนาแน่นจะต่ำ(low density)ถ้าปริมาณไขมันน้อยความหนาแน่นจะสูง (high density) คอเลสเทอรอลนับว่าเป็นไขมันประเภทหนึ่ง

    3. ผลต่อเมแทบอลิซึม
   ลดการสลายของกระดูก และคงสภาพของผิวหนังและหลอดเลือด

    การสลายของกระดูก
      เมื่อขาดฮอร์โมนอีสโทรเจนกระดูกจะสลายเร็วขึ้น หลักฐานแสดงว่า อีสโทรเจน อาจจะเปลี่ยนรูป
องวิตามินดี ให้กลายเป็นรูปที่ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น สตรีที่อายุมากมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญมากกว่าอายุของสตรี คือระดับฮอร์โมนอีสโทรเจนที่ลดลง ซึ่งไม่ว่าจะเกิดกับสตรีอายุเท่าใดก็ตาม จะทำให้เกิดความเสี่ยง ต่อโรคกระดูกพรุนมากขึ้นเท่านั้น

 
แสดงการสลายตัวของกระดูกในระยะต่างๆ


 การรับประทานยาคุมกำเนิดทำให้อ้วนจริงหรือไม่?

           อีสโทรเจนกระตุ้นการสังเคราะห์แอนจิโอเทนซินและแอลโดสเตอโรน ซึ่งมีผลให้ร่างกายเก็บน้ำไว้ ทำให้อ้วนได้ ทั้งนี้รวมทั้งผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดด้วย



 ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (progesterone hormone)

     ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (progesterone ) ตามชื่อที่เรียก pro–gestation ซึ่งหมายถึง สนับสนุนการตั้งครรภ์ คือถ้าไม่มีฮอร์โมนนี้ จะไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สร้างจากเพรกนิ โนโลน (pregnenolone) ซึ่งสร้างจาก คอเลสเทอรอล นอกจากสามารถ สร้างที่รังไข่ได้แล้ว ยังสามารถสร้างได้จากรก ต่อมอะดรีนัล คอร์เท็กซ์ และในอัณฑะอีกด้วย

หน้าที่ของฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน

           1. ทำให้เยื่อบุมดลูกพร้อมในการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว
           2. ส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน เพิ่มการสะสมไกลโคเจน
           3. ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น
           4. ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียว เข้มขึ้น ป้องกันไม่ให้อสุจิตัวอื่นสามารถว่ายมาผสมกับไข่ที่ผสมแล้วได้สะดวก
           5. ป้องกันไม่ให้มดลูกหดรัดตัวระหว่างตั้งครรภ์
           6. ทำงานร่วมกับอีสโทรเจน โดยอีสโทรเจนจะทำให้มีการเจริญของท่อน้ำนม(duct) หลังจากนั้นอีสโทรเจนจะให้โพรเจสเทอโรนร่วมทำงานทำให้ท่อน้ำนมและถุงน้ำนม(alveoli)เจริญอย่างสมบูรณ์ เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นตึงตัวขึ้น (glandular development) แต่ระดับของอีสโทรเจนที่สูงในระหว่างตั้งครรภ์จะยับยั้งการทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้าไม่ให้หลั่งโพรแลกตินด้วย
 
การเจริญของเต้านมจากผลของฮอร์โมนอีสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน

5.2.2 อัณฑะและฮอร์โมนจากอัณฑะ (testes)

       อัณฑะ (testis) เป็นอวัยวะเพศของผู้ชาย อยู่ในถุงอัณฑะ (scrotum) มีอยู่ 2 ข้างซ้ายและขวา ระยะแรกอยู่ในช่องท้อง ก่อนคลอดเล็กน้อยจึงออกมาอยู่ในถุงอัณฑะ ทำให้อุณหภูมิของอัณฑะต่ำกว่าอุณหภูมิของร่างกายประมาณ 2 องศาเซนเซียส ทำหน้าที่ในการผลิตสร้างตัวอสุจิและผลิตฮอร์โมนเพศชายที่สำคัญได้แก่เทสโทสเทอโรน (testosterone)
อวัยวะเพศชาย

การสร้างตัวอสุจิ

         ภายในอัณฑะจะมีท่อเซมินิเฟอรัส (seminiferous tubule) เป็นที่สร้างอสุจิ ซึ่งภายในท่อจะประกอบด้วยเซลล์เซอโทลิ (Sertoli cell) และเซลล์สืบพันธุ์ (germinal cell) อสุจิที่ยังไม่เจริญจะมีลักษณะกลมอยู่ในวงล้อมของเซลล์เซอโทลิ เซอโทลิจะสร้างโปรตีนที่จับกับฮอร์โมนเพศชาย (androgen binding protein) ทำให้เทสโทสเทอโรนมีระดับสูงที่ทำให้มีการผลิตอสุจิได้ แล้วตัวอสุจิจะเคลื่อนที่ไปยังท่อพักน้ำเชื้อ (epididymis) ซึ่งต่อกับท่อนำน้ำเชื้อ (vas deferens) จากนั้นอสุจิจะเข้าสู่ท่อหลั่งน้ำอสุจิ (ejaculatory duct) ซึ่งเปิดเข้าสู่ท่อปัสสาวะ (urethra) ตรงต่อมลูกหมาก (prostate gland)

กระบวนการสร้างและการเคลื่อนที่ของอสุจิ
               อสุจิสร้างที่ท่อเซมินิเฟอรัสแต่ยังผสมกับไข่และเคลื่อนที่เองไม่ได ้ต้องเคลื่อนที่ตามของเหลวในท่อเซมินิเฟอรัสไปเก็บที่บริเวณด้านหัวของท่อพักอสุจิ (epididymis) อสุจิจะใช้เวลาประมาณ 12 วันในการเดินทางในท่อพักอสุจิ ที่ขดไปมานี้ จนกระทั่งเมื่อถึงปลายท่อพักอสุจิ ก็จะเจริญเป็นอสุจิที่สมบูรณ์ สามารถผสมกับไข่ได้
                เมื่อมีการหลั่ง (ejaculation) น้ำกามและอสุจิจะเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วผ่านท่อน้ำเชื้อ (vas deferens) และรวมกับของเหลวจากท่อเซมินัล เวสซิเคล (seminal vesicle) และจากต่อมลูกหมาก (prostate gland) ออกไปทางท่อปัสสาวะ แต่ละครั้งที่หลั่งน้ำกามจะมีประมาณ 2-6 มิลลิลิตร และมีอสุจิประมาณ 40-240 ล้านตัว
                              
                                                                                 
ฮอร์โมนอะไรที่ทำให้เราเป็นหนุ่ม

       ส่วนของอัณฑะที่ทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศชายคือ เซลล์เลย์ดิก (Leydig cell) หรืออินเตอร์สติเชียลเซลล์ (interstitial cell) อยู่ในเนื้อเยื่อที่แทรกอยู่ระหว่างท่อเซมินิเฟอรัส (seminiferous tubule) ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรน และสร้างอีสโทรเจนในจำนวนน้อยด้วย

การควบคุมการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย

หน้าที่ของฮอร์โมนเพศชายและการควบคุมการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย

      เมื่อเด็กชายเข้าสู่วัยรุ่นคืออายุ 12 – 13 ปี จะมีการเพิ่มระดับของโกนาโดโทรปิน รีลิสซิ่งฮอร์โมน
(จีเอ็น อาร์เอช : GnRH ) จากไฮโพทาลามัสมากขึ้น การหลั่งจะเป็นแบบจังหวะ มากระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้หลั่ง แอลเอช (LHจากรูปลูกศรทึบสีแดง) ให้มีการหลั่งเป็นจังหวะเช่นกัน และจีเอ็น อาร์เอช ยังกระตุ้นการทำงานของเอฟ เอส เอช (FSH) ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างอสุจิและฮอร์โมนเพศชายด้วย
       FSH จะควบคุมการสร้างตัวอสุจิ ให้มีการสร้างอสุจิในท่ออสุจิ ฮอร์โมนแอล เอช (LH) จะกระตุ้นให้เซลล์เลย์ดิก (Leydig cell) สร้างฮอร์โมนที่เรียกว่าแอนโดรเจน (androgen) ส่วนใหญ่ของแอนโดเจนจากเซลล์เลย์ดิกเป็นเทสโทสเทอโรน โดยเอฟ เอส เอช (FSH) จะชักนำให้เกิดตัวรับของแอล เอช (LH) บนเซลล์เลย์ดิก
       เทสโทสเทอโรน มีผลไปยับยั้งการหลั่ง FSH เช่นกัน (ลูกศรสีม่วงขวามือ) แต่ยังไม่มีความชัดเจนในกลไกการยับยั้งนี้ แต่จากการสังเกตคนที่อัณฑะไม่เคลื่อนลงมาที่ถุงอัณฑะ (cryptorchidism) เพราะเซลล์ในท่อเซมินิเฟอรัสถูกทำลาย ทำให้สร้างอสุจิไม่ได้ แต่เซลล์เลย์ดิก สร้างฮอร์โมนได้ตามปกติ จะมี FSH สูงผิดปกติ เหมือนกับขาดตัวยับยั้งย้อนกลับและสารนั้นน่าจะอยู่ในเซมินิเฟอรัสที่ถูกทำลาย ต่อมาจึงทราบว่าสารตัวที่ยับยั้งนี้คืออินฮิบิน (inhibin ลูกศรสีม่วงซ้ายมือ)   นอกจากนี้ปริมาณของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่มีเพียงพอก็จะยับยั้งการหลั่งของ FSHและ LH ด้วย (เส้นประสีแดง)
 
การหลั่งของฮอร์โมนจีเอ็น อาร์เอช(GhRH) เป็นจังหวะ ทำให้ LH หลั่งเป็นจังหวะสัมพันธ์กัน


หน้าที่
       ทำหน้าที่กระตุ้นให้เด็กชายเข้าสู่วัยหนุ่ม (male secondary sex characteristics ) ทำให้อวัยวะสืบพันธุ์เพศชายทั้งภายนอกและภายในเจริญเติบโตเต็มที่ องคชาติขยายใหญ่และยาวขึ้น มีขนขึ้นที่อวัยวะเพศ รักแร้ หน้าแข้ง แขน ขา มีลูกกระเดือก ไหล่กว้าง สะโพกแคบ กล้ามเนื้อเจริญเติบโตขึ้น
ทำให้สเปิร์มเจริญเต็มที่ ซึ่งกระบวนการนี้เริ่มตั้งแต่เข้าสู่วัยหนุ่มไปจนตลอดชีวิต เทสโทสเทอโรนมีผลให้กระดูกยาว (long bone) ปิดเร็วขึ้น นอกจากนั้นยังมีผลทั้งทางด้านจิตใจและร่างกายโดยสรุปดังนี้
       1. มีความเป็นตัวของตัวเอง ดูแลตนเองได้ ใช้เวลากับเพื่อนมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น เริ่มชอบเพื่อนหญิง
       2. เหงื่อออกมากขึ้น เหงื่อทำให้ผิวนุ่มและเย็น อาจมีกลิ่นตัว
       3. เสียงแหบ ลูกกระเดือกใหญ่ ทำให้อาจมีเสียงแหบในช่วงแรก กล่องเสียงโตขึ้นเห็นเป็นลูกกระเดือกใหญ่ขึ้น
       4. กระดูกใหญ่ขึ้น ไหล่ หน้าอกใหญ่ กว้างขึ้น
       5. ผิวหนังสร้างไขมันมากขึ้น รูขุมขนใหญ่ขึ้นและบางคนเป็นสิวที่หน้า
       6. อวัยวะเพศมีการแข็งตัวตั้งแต่ยังเด็ก แต่ในวัยหนุ่มจะมีการสร้างซีเมน (semen) ดังนั้นถ้ามีอารมณ์ทางเพศมากๆ อาจมีการขับเคลื่อนน้ำกามออกมาได้ระหว่างนอนหลับ เรียกว่าฝันเปียก (wet dream)
       7. มีขนที่ใต้วงแขน หัวเหน่า ผมหนาขึ้น


5.2.3รกและฮอร์โมนจากรก (placenta)

              เมื่อมีการตกไข่ ไข่จะเคลื่อนที่ไปในท่อนำไข่โดยการพัดโบกของขนเซลล์ (cilia) ของท่อนำไข่ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากฮอร์โมนอีสโทรเจน เมื่อมีการผสมระหว่างอสุจิและไข่ เกิดการปฏิสนธิขึ้น (fertilization) จนเคลื่อนที่มาถึงมดลูกซึ่งเป็นระยะบลาสโตซิสท์ (blastocyst) มีจำนวนเซลล์ประมาณ100 เซลล์ แล้วจะฝังตัวที่โพรงมดลูกประมาณวันที่ 6-7 หลังจากตกไข่ แล้วเซลล์โทรโฟบลาสท์ (trophoblast) ของบลาสโตซิสจะยึดกับเนื้อเยื่อของมดลูก เจริญไปเป็นรก (placenta) ดังนั้นรกจึงเป็นส่วนหนึ่งของทารก แต่จะอยู่นอกตัวทารกในมดลูกของมารดา
        

                         การตกไข่ การปฏิสนธิ การแบ่งเซลล์ และการฝังตัวของตัวอ่อนที่โพรงมดลูกซึ่งใช้เวลาประมาณ 7 วัน ดังภาพ ภายหลังการฝังตัวของตัวอ่อน ส่วนเซลล์โทรโฟบลาสทจะเจริญไปเป็นรก  รกจะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนมาควบคุมการตั้งครรภ์ให้ดำเนินต่อไป
           รกเป็นโครงสร้างที่เชื่อมระหว่างมดลูกของมารดาและทารก  รกจะติดอยู่กับผนังด้านในของมดลูก เสมือนเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของตัวมารดา โดยจะมีสายสะดือเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างรกกับทารก   การจะดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้ต้องอาศัยฮอร์โมนหลายชนิด

หน้าที่
                รกเป็นบริเวณที่ระบบไหลเวียนโลหิตของมารดาและทารกมาพบกัน โดยเชื่อมต่อสายสะดือของทารกกับมดลูก ของมารดา รกทำหน้าที่ 2 ประการคือ
        - ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนอาหาร อากาศและของเสียจากทารกในครรภ์ของทารกในครรภ์
        - ทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อชั่วคราวในมดลูก ซึ่งสามารถผลิตฮอร์โมนมากมายที่จำเป็น ระหว่างตั้งครรภ์และเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับกลไกลการเจ็บครรภ์รวมทั้งฮอร์โมนอีสโทรเจน และฮอร์โมน
โพรเจสเทอโรน
    ก) ทารกในครรภ์ต้องอาศัยรกในการแลกเปลี่ยนอาหาร อากาศ และของเสียจากทารกในครรภ์
ข) เส้นเลือดของทารกจะแช่จุมอยู่ใกล้ชิดกับเส้นเลือดมารดาเพื่อแลกเปลี่ยนอาหาร อากาศ และของเสียจากทารกในครรภ์


ฮอร์โมนที่สร้างจากรก

        รกสร้างฮอร์โมนหลายชนิดที่สำคัญ ได้แก่
       1. ฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน
      ในช่วงแรกประมาณ 6-8 สัปดาห์จะได้รับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนจากคอร์ปัส ลูเทียมที่รังไข่ หลังจากนั้นรกจะทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ เป็นฮอร์โมนที่สำคัญมาก ที่จะทำให้การตั้งครรภ์ สามารถดำเนินต่อไปได้ โดยการยับยั้งการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้ร่างกายไม่กำจัด ทารกซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกายออกมาโดยไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ฮอร์โมนที่สร้างส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตของมารดาส่วนน้อยที่ผ่านไปยังทารก
แสดงระดับฮอร์โมนต่างๆ ระหว่างการตั้งครรภ์
             จะเห็นว่าในระยะแรกของการตั้งครรภ์ ระดับของHCGซึ่งสร้างจากรกจะสูงมากและฮอร์โมนอีสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนที่สร้างจากคอร์ปัส ลูเทียมยังคงสูงอยู่  ซึ่งทำให้ไม่มีประจำเดือนและทำให้เยื่อบุมดลูกเจริญ เมื่อรกทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอีสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนได้มากขึ้น (ภาพกลาง) คอร์ปัส ลูเทียมจะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนน้อยลงและหมดหน้าที่ไป (ภาพสุดท้าย) และระดับของ HCG จะลดลง เมื่อระยะเวลาการตั้งครรภ์มากขึ้น รกจะผลิตฮอร์โมนอีสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนได้มากขึ้น
       2. ฮอร์โมนอีสโทรเจน
       การสร้างฮอร์โมนนี้จะไม่เหมือนกับที่รังไข่ เพราะรกไม่มีเอนไซม์ 17 - βไฮดรอกซิเลสที่จะเปลี่ยนโพรเจสเตอโรน หรือ เพรกนีโนโลน(pregnenolone) เป็นอีสโทรเจน จึงต้องอาศัยสเตอรอยด์ที่สร้างมาจากต่อมหมวกไตของแม่ และของทารกแทน โดยเซลล์โทรโฟบลาสท์จะใช้ดีไฮโดรอิพิแอลโดรสเตอโรน ซัลเฟต (DHEA-S) ที่ผลิตจากต่อมหมวกไตของแม่ และของทารกมาเป็นสารตั้งต้นที่จะผลิตอีสตรา
ไดออล 17 เบต้า อีสโตรนจะถูกหลั่งมาที่เลือดแม่ แต่อีสตราไดออลจะถูกต่อมหมวกไต ของทารกเปลี่ยนไปเป็น อีสไทรออล กลับมาที่รกเพื่อเข้ากระแสเลือดแม่ หน้าที่ของอีสโทรเจนในการตั้งครรภ์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าในขณะใกล้คลอดจะมีปริมาณของอีสโทรเจนสูง และอีสโทรเจนทำให้มีเลือดมาเลี้ยงที่มดลูกมาก

       3. ฮอร์โมนฮิวแมนคอริโอนิกโกนาโดโทรฟิน (human chorionic gonadotropin: HCG)
          ฮอร์โมนฮิวแมนคอริโอนิกโกนาโดโทรฟินเป็นไกลโคโปรตีน มี 2 หน่วยคือ สายแอลฟาและสายเบตา สายแอลฟาประกอบด้วยกรดอะมิโน 92 ตัว สายเบตามีกรดอะมิโน 145 ตัว เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากถุงน้ำคร่ำที่อยู่ติดกับมดลูก (chorian) สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่วันที่ 8 ของการปฏิสนธิ ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ปริมาณ HCG จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยจะมีประมาณ 100 IU/L ในวันที่ที่ขาดประจำเดือน และ100,000 IU/L ขณะอายุครรภ์ 8-10 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะลดลงเหลือประมาณ 10,000 – 20,000 IU/L และคงที่ตลอดการตั้งครรภ์

   หน้าที่
         1. ทำให้คอร์ปัสลูเทียมผลิตฮอร์โมนอีสโทรเจนและโพรเจสเตอโรนต่อ
         2. ทำให้ผนังมดลูกพร้อมในการฝังตัวของตัวอ่อนคือมีเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก และยับยั้งการทำงานของโกนาโดโทรปินจากต่อมใต้สมองไม่ให้มีการเจริญของไข่ในรอบต่อไป
         3. กระตุ้นเลย์ดิกเซลล์ในอัณฑะให้สร้างฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน เพราะสายเบตาของเอชซีจี มีลักษณะคล้ายกับ ฮอร์โมนแอลเอช (LH) ที่สร้างจากต่อมใต้สมองโดยมีกรดอะมิโน 121 ตัวแรกที่เหมือนกันถึงร้อยละ 80
         4. กระตุ้นการทำงานต่อมไทรอยด์ โดยเอชซีจี สามารถจับกับตัวรับสัญญาณของทีเอสเอช (TSH) เพื่อกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์
        ประโยชน
         1. การศึกษาการทำงานของฮอร์โมน HCG ทำให้มีการสร้างเครื่องทดสอบการตั้งครรภ์ (over the counter kit : OTC kit) ได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ (antigen antibody reaction) ใช้วินิจฉัยการตั้งครรภ์ ซึ่งทำได้เร็ว
         2. ช่วยวินิจฉัยการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (molar pregnancy คำว่า molar มีรากศัพท์จากคำว่า mole  หมายถึงเม็ดเล็กๆ คล้ายไฝ หรือ องุ่น  molar pregnancy เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวทารก แต่มีเป็นถุงน้ำเล็กๆ คล้ายไฝหรือองุ่นเหล่านี้แทน) ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีฮอร์โมนเอชซีจี สูงมาก 3-10 เท่าของการตั้งครรภ์ปกติ

       4. ฮอร์โมนที่มีผลเหมือนโพรแลคตินและโกรทฮอร์โมนจากรก (human chorionic somatomamotrophin, hCS หรือ human placental lactrogen, hPL)
      hCS เป็นเปปไทด์ฮอร์โมนที่ประกอบด้วยกรดอะมิโน 191 หน่วย มีผลคล้ายโพรแลคทินและโกรทฮอร์โมน เช่นการสลายไขมันเพื่อให้เลือดแม่และทารกมีกรดไขมันสูงขึ้น ยับยั้งการนำกลูโคสเข้าเซลล์แม่ ทำให้ร่างกาย ต้องหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น และยับยั้งการสังเคราะห์กลูโคสจากสารอาหารอื่น ทำให้สารอาหารประเภทโปรตีน และกลูโคสผ่านไปยังทารกมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีส่วนกระตุ้น ให้มีการเปลี่ยนแปลง ของเต้านม เพื่อเตรียมในการผลิต น้ำนมมากยิ่งขึ้น

5.1 ฮอร์โมนเพศคืออะไร

ฮอร์โมนเพศเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งในด้านรูปร่างการทำหน้าที่ และการเจริญเข้าสู่ลักษณะของวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว ทั้งทางด้านจิตใจและพฤติกรรม
      อวัยวะเพศเจริญเติบโตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยอาศัยโกนาโดโทรปิน (gonadotropin) ซึ่งเป็นโทรปิกฮอร์โมน (tropic hormone) จากต่อมใต้สมองของมารดาและฮอร์โมนจากรกมาช่วยกระตุ้น ก่อนที่รังไข่จะสร้างฮอร์โมนเพศ ร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศได้บ้างจากต่อมหมวกไตและไขมันที่สะสมในร่างกาย แต่ยังไม่พอที่จะทำงานได้
การทำงานของรังไข่และอัณฑะถูกควบคุมโดยไฮโพทาลามัสและต่อมใต้สมอง
      เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว (puberty) ไฮโพทาลามัสและต่อมใต้สมองส่วนหน้าจะสร้างโกนาโดโทรปิน      รีลีสซิ่งฮอร์โมน(gonadotropin releasing hormone) หรือที่เรียกว่าจีเอ็น อาร์เอช (Gn RH) ออกมา ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้หลั่งฮอร์โมน ฟอลลิเคิล สติมิวเลติงฮอร์โมน(follicle stimulating hormone) เรียกย่อว่า เอฟ เอส เอช (FSH ) และแอล เอช(LH) มีผลให้ในเพศหญิงอวัยวะที่เรียกว่ารังไข่ และในเพศชายอวัยวะที่เรียกว่าอัณฑะทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อผลิตฮอร์โมน

      ฮอร์โมนเพศทั้งอีสโทรเจน โพรเจสเทอโรน และเทสโทสเทอโรนล้วนมีสารตั้งต้นคือคอเลสเทอรอล ซึ่งได้ จากไลโพโปรตีนในกระแสเลือดและจากการเปลี่ยนคอเลสเทอรอลภายในรังไข่ให้เป็นเพรกนิโนโลน ซึ่งมีรายละเอียดเหมือน การสังเคราะห์สเตรอยด์ฮอร์โมนที่กล่าวมาแล้ว
การสังเคราะห์ฮอร์โมนประเภทสเตรอยด์ซึ่งมีสารตั้งต้นจากคอเลสเทอรอล