วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

1.4 หน้าที่หลักของฮอร์โมน

ฮอร์โมนหนึ่งอาจมีผลแตกต่างกันต่อเนื้อเยื่อ หรือเซลล์เป้าหมายที่ต่างกัน เช่น ฮอร์โมนอีสโทรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง จะกระตุ้นให้ไข่เจริญเติบโต แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีผลในการกระตุ้นให้กระดูกตามยาว (long bone) เจริญขึ้น และเมื่อถึงระยะหนึ่ง ก็ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณก่อนถึงปลายกระดูกหรือเอพิไฟเซียลเพลท (epiphyseal plate) ปิดลงด้วย นอกจากนี้ กระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง ของร่างกาย เช่นการเจริญเติบโต อาจต้องอาศัยการทำงานของหลายๆ ฮอร์โมนร่วมกัน ได้แก่ ต่อมใต้สมองส่วนหน้า ต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน และฮอร์โมนเพศและอี่นๆ ร่วมด้วย


หน้าที่หลักของฮอร์โมน
หน้าที่ของฮอร์โมนที่สำคัญมีดังนี้
1. การสืบพันธุ์ โดยการกระตุ้นการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ ได้แก่ การสร้างเซลล์สืบพันธุ์ การเจริญเติบโตและพัฒนาการตามวัย เช่นฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน อีสโทรเจน โพรเจสเทอโรน ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าได้แก่ LH และ FSH


ฮอร์โมนเกี่ยวกับการสืบพันธุ์จะควบคุมการเจริญของไข่ในเพศหญิง และอสุจิในเพศชาย กระตุ้นลักษณะทางเพศและขบวนการต่างๆ เพื่อให้พร้อมในการสืบพันธุ์


2. การเจริญเติบโต กระตุ้นทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (metamorphosis) การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (maturation) เช่น การทำงานของโกรทฮอร์โมน   อินซูลิน   กลูโคคอร์ติคอยด์ และฮอร์โมนเพศ

3. การรักษาสภาวะภายในร่างกายให้คงที่ เช่น การรักษาปริมาณน้ำในร่างกาย ความดันโลหิต สารอิเล็กโทรไลต์ ความเป็นกรดด่าง ระดับน้ำตาลในเลือด และแคลเซียมในเลือดเป็นต้น

4. การสร้างและใช้พลังงาน โดยการควบคุมอัตราเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน เช่น ฮอร์โมนอินซูลิน  กลูคากอน  ไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น


เมื่อมีความกลัวหรือความตื่นเต้นฮอร์โมนจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างพลังงานได้จำนวนมาก โดยต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนชื่ออิพิเนฟรินหรืออะดรีนาลีน  เตรียมพร้อมในการเผชิญหน้าหรือต่อสู้กับอันตรายหรือหลบหนี  ( fight or flight) ทำให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่ปกติไม่สามารถทำได้ เช่น ยกตู้เสื้อผ้า ยกตู้เย็น อุ้มคนอื่นเพื่อหนีอันตรายได้ เป็นต้น


จะเห็นว่าการทำหน้าที่ของฮอร์โมนในการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งต้องทำงานโดยฮอร์โมนหลายๆ ชนิดทำหน้าที่ร่วมกัน เสริมฤทธิ์กัน หรือต่อต้านกันเพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานหรือพัฒนาการ ไปได้ตามปกติ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น