วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

2.5 ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง

 ต่อมใต้สมองส่วนหลังเจริญมาจากเนื้อเยื่อประสาท (ต่อมใต้สมองส่วนหน้าเจริญมาจากเพดานปากของตัวอ่อน) ต่อมใต้สมองส่วนหลังเป็นที่เก็บฮอร์โมนสองชนิดที่หลั่งจากไฮโพทาลามัส ฮอร์โมนนิวโรไฮโพไฟซิส (neurohypophysis : PN) เป็นที่สิ้นสุดของเส้นประสาทแอกซอน (axon) ของนิวโรซีครีทอรีเซลล์ ที่ตัวเซลล์อยู่ที่ไฮโพทาลามัส คือ
       1พาราเวนทริคิวลาร์ นิวคลีอาย (paraventricular nuclei : PVN) เซลล์ส่วนใหญ่
สร้างออกซิโทซิน   ส่วนน้อยสร้างวาโซเพรสซิน
       2. ซูพราออฟติก นิวคลีอาย (supraoptic nuclei : SON) เซลล์ส่วนใหญ่สร้างวาโซเพรสซิน  มีบางส่วนสร้างออกซิโทซิน
       ฮอร์โมนทั้งสองชนิดถูกส่งมาตามเส้นประสาทแอกซอน (axon) แล้วเก็บไว้ที่นิวโรไฮโพไฟซิส โดยจับกับโปรตีนตัวพา (carrier protein) ชื่อ นิวโรไฟซิน (neurophysin) ปลายเส้นประสาท จะไปสิ้นสุดที่นิวโรไฮโพไฟซิส เรียกว่าใยประสาท ไฮโพทาลาโม -ไฮโพไฟเซียล (hypothalamo - hypophyseal tract) บริเวณนิวโรไฮโพไฟซิส ประกอบด้วยเซลล์เรียกว่า พิทูอิไซท์ (pituicyte)

1   ทั้งพาราเวนทริคิวลาร์ นิวคลีอายและซูพราออฟติก นิวคลีอายในไฮโพทาลามัส มีเซลล์ประสาทที่สร้าง ทั้งวาโซเพรสซินและออกซิโทซิน  แล้วแต่ชนิดของเซลล์ประสาทในนั้นว่าจะสร้างวาโซเพรสซินหรือออกซิโทซิน
2   ฮอร์โมนจะเคลื่อนที่ตามเส้นประสาทแอกซอนมาเก็บไว้ที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง
3   เมื่อเซลล์ประสาทได้รับการกระตุ้น ฮอร์โมนที่เก็บไว้จะถูกหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะเป้าหมาย

       จากการทดลองถ้ามีการตัดต่อมใต้สมองส่วนหลังออกไปพบว่ามีอาการเบาจืดเกิดขึ้นชั่วคราว แต่ถ้าตัดไฮโพทาลามัสออกไป อาการเบาจืดจะเกิดขึ้นอย่างถาวร แสดงให้เห็นว่า ต่อมใต้สมองส่วนหลังไม่ได้เป็นต่อมที่สร้างฮอร์โมน แต่เป็นที่เก็บฮอร์โมน ที่สร้างจากไฮโพทาลามัส  ฮอร์โมนที่สร้างขึ้นจะเคลื่อนที่ไปตามนิวโรซีครีทอรีเซลล์ไปที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง ถ้าตัด ต่อมใต้สมองส่วนหลังออก ฮอร์โมนจะเคลื่อนที่ไปตามเเอกซอน (axon) ไปเรื่อยๆ เมื่อถูกกระตุ้นก็จะมีการหลั่งออกมา จึงทำให้อาการเบาจืดเป็นแค่ชั่วคราว

ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง


วาโซเพรสซิน (vasopressin)

 วาโซเพรสซิน (vasopressin) หรือ แอนติไดยูเรติก ฮอร์โมน (antidiuretic hormone) เป็นเปปไทด์ฮอร์โมน ที่ได้ชื่อเช่นนี้เพราะเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เส้นเลือดหดรัดตัว และลดการหลั่งปัสสาวะเรียกชื่อย่อว่า ADH
      ร้อยละ 70 ของสารในร่างกายคือน้ำ แม้ว่าเราจะดื่มน้ำวันละมากๆ หรือเสียเหงื่อในวันที่มีอากาศร้อนมากๆ แต่ความเข้มข้นของสารน้ำในร่างกายยังปกติ นอกจากการทำงานของไตแล้ว ฮอร์โมนที่สำคัญที่ควบคุมให้ร่างกายมีสารน้ำปกติคือ แอนติไดยูเรติก ฮอร์โมน (antidiuretic hormone)
      วาโซเพรสซิน ประกอบด้วยกรดอะมิโน 9 หน่วย คล้ายกับฮอร์โมนออกซิโทซิน แต่ต่างกันอยู่เล็กน้อย ทำให้การทำงานแตกต่างกันไป ตำแหน่งที่ 8 ของวาโซเพรสซินคือกรดอะมิโนอาร์จินีน (arginine) บางครั้งจึงเรียกว่าอาร์จินีนวาโซเพรสซิน มีสูตรโครงสร้างดังนี้
       สูตรโครงสร้างของADH และออกซิโทซินประกอบด้วยกรดอะมิโน 9 หน่วย มีพันธะไดซัลไฟด์เชื่อมระหว่างกรดอะมิโน ซัสเตอีนตำแหน่งที่ 1 และ 6 จับกันเป็นวงแหวนและต่างกับออกซิโทซินตามภาพ ทำหน้าที่ในการดูดน้ำกลับที่ท่อไต และทำให้ปริมาณของปัสสาวะลดน้อยลง ทำให้ปริมาตรของเลือดในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ความดันโลหิตปกติ

หน้าที่

 1. ทำให้สารน้ำในร่างกายปกติ
       เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งอาจเกิดจากการเสียเหงื่อ อุจจาระร่วง (diarrhea) ฮอร์โมน ADH จะทำให้ร่างกายขับปัสสาวะน้อยลง หรือเมื่อไฮโพทาลามัสรู้สึกว่าร่างกายมีความเข้มข้นของเกลือ (saltiness) มากเกินไป ร่างกายจะหลั่ง ADH มากขึ้น
     2. การเข้มข้นของสารเหลวในร่างกายปกติ
       ความเข้มข้นของสารในกระแสเลือดประเภทที่เรียกว่าออสโมลาริติ   (osmolarity) เกี่ยวข้องกับความเข้มข้นของสารโดยรวม รวมทั้งประจุโดยรวม จะส่งสัญญาณผ่านกระแสประสาทไปที่ไฮโพทาลามัส (ซึ่งรู้จักในชื่อ ออสโมรีเซฟเตอร์ (osmoreceptor)) กระตุ้นให้กระแสประสาทให้หลั่ง ADH 

ในขณะที่ร่างกายสูญเสียสารเหลวหรือเลือดในร่างกายเป็นจำนวนมาก ฮอร์โมน ADH จะหลั่งออกมามากขึ้น ทำให้เส้นเลือดหดตัว เส้นเลือดแคบลงทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น

ความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมน


ผู้ป่วยเบาจืดจะรู้สึกกระหายน้ำเป็นอย่างมากและปัสสาวะบ่อย

      โรคที่พบบ่อยได้แก่ ไดอะปิทิส อินซิปิดัส (diabetes insipidus) ซึ่งเกิดจาก 2ประการดังนี้
      1. ไฮโพทาลามิก ไดอะบิทิส อินซิปิดัส (hypothalamic diabetes insipidus) คือมีการหลั่งADH จากต่อมไฮโพทาลามัสได้น้อย ซึ่งอาจเกิดจากได้รับอุบัติเหตุที่สมอง หรือการติดเชื้อ
      2. เนฟโฟจินิก ไดอะบิทิส อินซิปิดัส (nephrogenic diabetes insipidus) เกิดจากไตไม่สามารถตอบสนองต่อADH มักเกิดจากโรคที่เกิดที่ไต   ภาวะกลายพันธุ์ (mutation) หรือการผ่าเหล่าของยีนของ ADHทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมน ADH ที่ผิดปกติ ซึ่งอาการแสดงที่ปรากฏ คือมีการหลั่งปัสสาวะออกมาอย่างมาก เช่นการหลั่งปัสสาวะได้16 ลิตร/ วัน ทำให้ต้องการน้ำทดแทน อย่างมาก ซึ่งถ้าให้การทดแทนไม่เพียงพอจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

การรักษาโดยให้ ADH สังเคราะห์


ออกซิโทซิน (oxytocin)

โครงสร้าง
สร้างจากซูพราออฟติก นิวเคลียส (supraoptic nucleus) เป็นส่วนมากและพาราเวนทริคูลา นิวเคลียสเป็นส่วนน้อย เป็นเปปไทด์ฮอร์โมนที่มีกรดอะมิโน 9 หน่วย คล้ายฮอร์โมน ADH ต่างกันเล็กน้อยทำให้การทำงานต่างกันบ้าง สร้างจากเซลล์ประสาทไฮโพทาลามัส แล้วขนถ่ายผ่าน เซลล์ประสาท
เเอกซอน (axon) ไปที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง (hypopituitary gland) นอกจากนี้ยังสามารถสร้างที่สมอง และเซลล์อื่นได้บ้าง เช่น ที่รังไข่ และอัณฑะ
โครงสร้างฮอร์โมนออกซิโทซิน และแอนติไดยูเรติกฮอร์โมน หรือวาโซเพรสซิน

หน้าที่

 1. กระตุ้นการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของมดลูกของหญิงมีครรภ์ ในการคลอดบุตร ในระยะใกล้คลอด จะพบว่ามีออกซิโทซิน รีเซฟเตอร์เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้มีการหดรัดตัว ของมดลูกถี่ขึ้นในระยะใกล้คลอด และในระยะคลอด ในขณะคลอดถ้ามีการกระตุ้นการถ่ายขยายของ ปากมดลูกจะทำให้มีการหลั่งของออกซิโทซินเพิ่มมากขึ้น
        2. กระตุ้นการหลั่งน้ำนม (milk ejection) ทำให้กล้ามเนื้อของต่อมน้ำนม บีบตัวให้หลั่งน้ำนมออกมา เมื่อน้ำนมถูกสร้างขึ้นจะไปเก็บไว้ในถุงน้ำนม ซึ่งเรียกว่า อะวีโอไล (alveoli) เพื่อเตรียมไว้ให ้ทารก อะวีโอไลจะล้อมรอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบที่เรียกว่า เซลล์ไมโออิปิทีเลียม (myoepithelial cell) ซึ่งเป็นเซลล์เป้าหมาย (target cell) ของออกซิโทซิน ออกซิโทซินจะกระตุ้นให้มีการหดรัดตัว ของกล้ามเนื้อเรียบนี้  ทำให้น้ำนมที่สร้างไว้แล้วไหลเข้าไปสู่ท่อน้ำนมเมื่อทารกดูด

       เมื่อทารกดูดนม จะส่งกระแสประสาทผ่านไขสันหลัง ไปยังเซลล์ประสาท ที่สร้างฮอร์โมน ในไฮโพทาลามัสทำให้มีการสร้างออกซิโทซิน และมาเก็บไว้ที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง และแพร่เข้าไปในกระแสเลือด ไปทำงานโดยกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบที่ต่อมน้ำนม ให้บีบตัวให้น้ำนมที่สร้างไว้แล้วให้ไหลออกมาตามท่อน้ำนมไปที่หัวนมแล้วเข้าปากทารก

ทำไมจึงเรียกออกซิโทซินว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก

ฮอร์โมนออกซิโทซินจะกระตุ้นให้มารดามีพฤติกรรมในการเลี้ยงบุตร บทบาทนี้ทำให้ มนุษย์และสัตว์ดำรงเผ่าพันธุ์สืบต่อมาได้ หลังคลอดจะพบว่ามีออกซิโทซินที่ในสมองและที่ไขสันหลัง เพิ่มมากขึ้น(cerebrospinal fluid ) ซึ่งเชื่อว่าฮอร์โมนนี้เป็นตัวกระตุ้นให้มารดามีความต้องการ ในการเลี้ยงดูทารก นอกจากนี้จะพบว่า ในมารดาที่ให้บุตรดูดนมของตนเอง จะมีความรักใคร่ผูกพัน ทารกมากกว่ามารดาที่ไม่ได้เลี้ยงบุตรด้วยนมตนเอง
        แต่จากการศึกษาในระยะหลังพบว่าหนูที่ตัดเอาเซลล์เป้าหมายของออกซิโทซินออกไป เมื่อหนูคลอดบุตรก็สามารถคลอดได้โดยง่ายและมีพฤติกรรมในการเลี้ยงลูกด้วยดี แต่มีปัญหาในการให้นมลูก ดังนั้นปัจจุบันจึงมีการศึกษาว่าที่ถูกต้องแล้ว ออกซิโทซินมีบทบาทที่สำคัญ หรือแค่เป็นตัวส่งเสริมการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเรียบหดรัดตัว และมีบทบาทในการเลี้ยงบุตรเท่านั้น
        ในผู้ชายจะมีออกซิโทซิน หลั่งจากไฮโพทาลามัสเหมือนผู้หญิงเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่า สามารถผลิตได้ในอัณฑะและ อวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ พบว่าในขณะที่ผู้ชายหลั่งน้ำกาม (semen) จะมีฮอร์โมนนี้ออกมาด้วยและจากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าออกซิโทซินใน เซมินอลฟลูอิด (seminal fluid ) ช่วยในการเคลื่อนที่ของสเปิร์มในโพรงมดลูก เพื่อไปผสมกับไข่ด้วยและ อาจมีผลเกี่ยวกับ พฤติกรรมทางเพศของผู้ชายด้วย

การควบคุมการทำงานของฮอร์โมนออกซิโทซิน

การกระตุ้นที่หัวนม หรือการดูดนมมารดาของทารกเป็นสิ่งเร้าที่จะกระตุ้นสัญญาณประสาทผ่าน ไปในไขสันหลัง ไปที่สมองไปกระตุ้นไฮโพทาลามัสให้มีการสังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิโทซิน และหลั่งที่ปลายประสาทในต่อมใต้สมองส่วนหลังเข้ากระแสเลือด ไปมีผลที่เต้านม นอกจากการดูดนมของทารกแล้ว เสียงและภาพของทารกหรือการนึกถึงทารกก็สามารถกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโทซินได้ ในขณะที่เสียงและภาพของทารกไม่กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโพรแลกทิน
          ปัจจัยที่กระตุ้นการหลั่งออกซิโทซินประการหนึ่งคือ การถ่างขยายของปากมดลูกในระยะเข้าสู่ ขบวนการคลอดบุตร ซึ่งจะกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวได้ดีขึ้นทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด
การถ่างขยายของปากมดลูกเมื่อเข้าสู่ขบวนการคลอดกระตุ้นการหลั่งออกซิโทซิน

ความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน

ในการคลอดถ้าฮอร์โมนออกซิโทซินที่หลั่งตามธรรมชาติไม่เพียงพอ จะทำให้การคลอดล่าช้า แพทย์จะให้ออกซิโทซินสังเคราะห์เพื่อกระตุ้น ให้ปากมดลูกถ่างขยายได้ดีขึ้น เมื่อให้แก่ผู้คลอดแล้ว ต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นอาจทำให้มดลูกแตก หรือทารกขาดออกซิเจนในครรภ์มารดา จากการที่มดลูกได้รับการกระตุ้น ให้มีการหดรัดตัวมากเกินไป อาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์มารดาได้ หรือในกรณีหลังคลอด ถ้ามีฮอร์โมนไม่เพียงพอ อาจทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดีพอที่จะไปบีบเส้นเลือด บริเวณที่รกลอกตัวให้เลือดไหลน้อยลง จะทำให้ผู้คลอดเสียเลือดมากจนถึงแก่ชีวิตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น